วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พระบรมบรรพต
บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์บนภูเขาจำลองตั้งอยู่ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร จากพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริให้สร้างพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร คล้ายพระเจดีย์วัดภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากโครงสร้างมีน้ำหนักมาก ดินเลนในบริเวณนั้นไม่สามารถรองรับได้ องค์ปรางค์จึงทะลายลงมา[4] ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแบบให้เป็นภูเขาทองขึ้นดั่งเช่นในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ. 2408
การก่อสร้างบรมบรรพต ใช้เวลาถึง 2 รัชกาล คือแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเจดีย์มีการบรรจุพระธาตุซึ่งได้รับการบรรจุถึง 2 ครั้ง คือใน ปี พ.ศ. 2420 และ พ.ศ. 2441 มีทางขึ้นทั้ง 2 ทาง ในทิศเหนือแและใต้
ปัจจุบันบรมบรรพตถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในบริเวณเขตนั้นเนื่องจากความสูงกว่า 59 เมตร หรือเท่าตึกสูง 19 ชั้น เคียงคู่กันกับ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมาก และในช่วงวันลอยกระทง ของทุกปี จะมีงานสำคัญของบรมบรรพตคืองาน พิธีห่มผ้าแดงบรมบรรพตภูเขาทอง ซึ่งมักจัดต่อเนื่องกันยาว 10 วัน

ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีดำริให้จัดสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง ไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนดั่งที่กรุงเก่า มีวัดภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทุ่ง มีองค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปประชุมเล่นเพลง และสักวาในเทศกาลประจำปี โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงเลือกเอาบริเวณวัดสระเกศเป็นที่ก่อสร้าง
เริ่มก่อสร้างโดยใช้โครงไม้ทำเป็นรูปปรางค์ใหญ่ ขุดฐานเอาไม้ซุงปูเป็นตาราง เอาศิลาแลงก่อขึ้นจนเสมอดินแล้วจึงก่อด้วยอิฐ ในองค์พระปรางค์เอาศิลาก้อนที่ราษฏรเก็บมาขายใส่ลงไป แต่ก่อสร้างได้ไม่เท่าไรก็ทรุด ยุบตัวพังลงมาเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ใกล้ชายคลอง พื้นดินไม่แข็งแรงพอจึงต้องปักเสารอบๆองค์พระปรางค์หลายๆชั้นไม่ให้ดินทลายออกไป จึงเริ่มก่อใหม่แต่ก็ยังทรุดอีกจึงยุติการก่อสร้างชั่วคราวจนสิ้นรัชกาลที่ 3

ครั้นพอถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้สร้างใหม่
การก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการก่อสร้างภูเขาทองที่ยังค้างอยู่จนสำเร็จ
การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุใว้ภายในองค์พระเจดีย์มีอยู่หลายครั้ง ที่สำคัญคือเมื่อ พ.ศ. 2422 รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดได้จากเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัศดุ์ บรรจุอยู่ภายในผอบที่มีอักษร พราหมี หรือ เมาริยะ จารึกใว้ว่า "พระบรมสารีริกธาตุนี้ เป็นของพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ" ให้แด่รัชกาลที่ 5 แล้วจึงได้โปรดเกล้าให้นำมาบรรจุใว้ในองค์พระเจดีย์
ในช่วงวันลอยกระทง ของทุกปี ทางวัดสระเกศราชวรมหาวิหารจะจัดงานประเพณี เรียกว่า "งานภูเขาทอง" ระยะเวลาราว 7-10 วัน เป็นประจำ นับว่าเป็นงานวัดที่สำคัญงานหนึ่ง

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระบรมบรรพต
ที่มาภาพ : https://www.google.co.th/search?q=ภูเขาทอง&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwip647Tj5nYAhWKLo8KHbXSDBAQ_AUICigB&biw=1366&bih=613
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น